แชร์ประสบการณ์เรียนต่อปริญญาโท | เป้าหมายของใครหลาย ๆ คน หรือ อาจเป็น "ฝันร้ายของใครบางคน" เช่นกัน


ก่อนอื่นสำหรับคนที่ยังไม่เคยรู้จักผมขอแนะนำตัวก่อนนะครับ ผมชื่อว่า "สมัคร ชัยสงวน" หรือชื่อเล่น "แม็ค" ตอนนี้เป็นโปรแกรมเมอร์อาวุโส (senior programmer) อยู่บริษัทแห่งหนึ่งในกทม มีความชอบในการเขียนบทความเพื่อเป็นการบันทึกความทรงจำ เผื่อวันหนึ่งนั้นตัวเองจะได้มีโอกาสกลับมาอ่านมันเอง ต้องเล่าย้อนความไปก่อนว่าทำไมผมถึงอยากเรียนต่อ ?

แรกเริ่มเดิมทีผมตั้งใจที่จะอยากไปเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ไหนก็ได้สักที่หนึ่ง แต่ในการที่จะเป็นอาจารย์นั้นจำเป็นต้องมี คุณวุฒิ "ปริญญาโท" ถึงจะสามารถไปสอนปริญญาตรีได้ เงื่อนไขเพิ่มเติมคือต้องเป็นปริญญาโทที่เป็น แผน ก. หรือต้องทำวิทยานิพนธ์ด้วย ดังนั้นผมจึงเริ่มมองหามหาลัยที่ผมจะสามารถเข้าไปเรียนได้โดยมีเงื่อนไขอยู่สองอย่างด้วยกันคือ

  1. ไม่ต้องไปเรียนทุกเสาร์อาทิตย์
  2. ค่าเทอมที่ไม่แพงมาก


เหตุผลที่ 1 คือผมไม่ค่อยจะมีเวลาว่างมากนักแม้แต่เวลาช่วงเสาร์ทิตหรือเวลานอน ส่วนตัวผมคิดว่าคงมีโปรแกรมเมอร์หลาย ๆ คนที่ทำแบบผมหรือผมทำแบบคนอื่น นั้นคือการประกอบอาชีพฟรีเลนซ์ (Freelancer) พร้อมกับอาชีพประจำจึงเป็นที่มาที่ไปของการไม่ค่อยมีเวลา แน่นอนคุณจะได้มาซึ่งรายได้แต่ขณะเดียวกัน "สุขภาพ" คุณก็จะแย่ลงไปพร้อมกับการทำงานอย่างหนัก

เหตุผลที่ 2 คือด้วยความที่ผมมี "ภาระ" ค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงรายทาง ซึ่งถ้าผมเอาไปทุ่มกับค่าเทอมเพียงอย่างเดียวนั้นส่วนอื่นที่ต้องจ่ายต้องประสบปัญหาการใช้จ่ายเป็นอย่างแน่นอน ด้วยเหตุนี้ผมจึงเลือกมหาลัยที่มีค่าเทอมที่ผมพอจะชำระได้ ไม่ลำบากมากนัก


เลือกมหาวิทยาลัย จากเงื่อนไขข้างต้นจึงได้ตัวเลือกมาไม่มากนักนั้นคือ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กับ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรก และแห่งที่สองเรียงติดกันของประเทศไทย หรือที่เขาเรียกว่า "ตลาดวิชา" ที่ผู้เรียนสามารถเลือกวิชาที่เรียนเวลาที่เรียนเองได้ แต่สุดท้ายมหาวิทยาลัยที่ผมเลือกคือ "มหาวิทยาสุโขทัยธรรมธิราช"

ความคิดแรก ๆ ที่ผมตัดสินใจเรียน ผมคิดว่าคง "เรียนไม่น่ายาก" ประมาณว่า "จ่ายครบจบแน่" ผมเลยหันกับมาที่ตัวเองแล้วลองนับเงินดูคิดว่าคงพอ สบาย ๆ พร้อมจะ Pay แต่พอไปเรียนจริง ๆ กับไม่ใช่อย่างที่ผมคิด

ขั้นตอนก็เหมือนกระบวนการศึกษาทั่วไป Flow มันจะเป็นดังนี้

  1. สมัครเรียน (สมัครผ่านไปรษณีย์)
  2. คัดเลือกนักศึกษา (ผ่านการคัดเลือก)
  3. ลงทะเบียนเรียน เลือกแผนการศึกษา (ลงทะเบียนผ่านไปรษณีย์)
  4. ประถมนิเทศ (ไปที่มหาวิทยาลัย หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ)
  5. เริ่มเรียน (Courses work) 
  6. ปิดเทอม (15 วันโดยประมาณ)
  7. เปิดเทอม
  8. สอบ (ตามโรงเรียนที่ใกล้บ้านที่สุด)
  9. ทำวิทยานิพนธ์(Thesis) หรือ ค้นคว้าอิสระ (IS)
  10. รับปริญญา (ยังไม่ได้รับ)

ในส่วนนี้ผมตกใจขั้นตอนหนึ่งคือตอนมาประถมนิเทศนักศึกษา ผมได้ไปเจอเพื่อนสมัยเรียนปริญญาตรีคือ "อิ๋ว" แอบตกใจเล็กน้อยว่าทำไมบังเอิญขนาดนี้ เอาละตอนนั้นผมคิดว่าโชคดีจังที่ได้มีเพื่อน ผมไม่เหงาแล้ว อีกอย่างคือสมัยเรียน "อิ๋ว" จะเป็นเลขาที่ดีมากของผม ช่วยสนับสนุนหลาย ๆ โครงการ กิจกรรมหลาย ๆ อย่างให้ประสบความสำเร็จ และมักจะทำได้ดีและได้ที่หนึ่งมาตลอดทุกครั้งที่ได้ทำงานกันเป็นกลุ่ม

เริ่มเรียน ด้วยความที่นักศึกษา มสธ ส่วนใหญ่จะอยู่ต่างจังหวัดการเรียนต้องเดินทางมาจากต่างจังหวัด บางคนก็เดินทางมาด้วยรถยนต์ส่วนตัว เครื่องบิน หรือรถประจำทางตามที่สะดวก แต่ต้องมาพักใกล้ ๆ มหาวิทยาลัย เพราะบางครั้งจะมีการจัดการสอนติดกันถึงสองวันหรือ 5 วัน ที่มากสุด แต่ก็ไม่ได้เรียนบ่อย ๆ ผมก็เป็นหนึ่งที่ต้องไปใช้ห้องพักโรงแรมใกล้ ๆ มหาวิทยาลัยเพราะคิดว่าเดินทางเช้าคงเหนื่อย เพราะตอนนั้นผมก็พักอยู่ที่คอนโดแถว ๆ แบรริ่งเดินทางก็ไกลพอสมควร เลยตัดสินใจพักอยู่โรงแรมบริเวณนั้น 

ในการเรียนนั้นแน่นอนต้องมี "การบ้าน" ซึ่งทางมหาลัยมีระบบส่งการบ้านออนไลน์ โดยอาจารย์ประจำวิชาจะเป็นคนสร้างหัวข้อการบ้านขึ้นมา ที่นักศึกษาจะต้องทำส่ง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "โมดูล" ด้วยความมักง่ายหรือขี้เกียจ ของผมเองการบ้านที่ทำจึงออกมาดีบ้างไม่ดีบ้าง แล้วแต่งานแน่นอนว่ามันมีผลโดยตรงกับคะแนนเก็บ เพราะมันมีผลมากถึง 40 % ของคะแนนทั้งหมด 

ช่วงสอบเป็นช่วงที่สนุกสนานกันมาก ๆ เพื่อนที่มีข้อมูลอะไรเกี่ยวกับข้อสอบ ก็จะมาแชร์แบ่งปันกัน คนที่ไม่แบ่งผมไม่รู้นะแต่ของผมแบ่งให้เพื่อน ๆ หมดทุกอย่างทุกสิ่งที่คิดว่าอาจารย์จะออก ซึ่งมันก็มาจากคำแนะนำของอาจารย์นั้นแหละ แล้วผมนำมาย่อเพื่อให้อ่านเข้าใจได้ง่าย ๆ พอสอบออกมาจึงเป็นเรื่องที่ไม่ยากนักในการทำข้อสอบ

ตัดบทมาที่ช่วงสุดท้ายของการเรียนปริญญาโท คือมันมีอุปสรรคที่ใครหลาย ๆ คนไม่สามารถก้าวผ่านระหว่างคำว่า "บัณฑิต" กับ "มหาบัณฑิต" แน่นอนว่าเราต้องทำ "วิทยานิพนธ์" ซึ่งมันก็จะมีรูปแบบขั้นตอนของมันเริ่มตั้งแต่หา หัวข้อ สอบหัวข้อ เสนอกรรมการสภาอนุมัติ และแน่นอนว่าทำเล่น ๆ ไปไม่ผ่านแน่นอน คือถ้าไม่ผ่านกระบวนการได้มาซึ่งหัวข้อก็จะทำขั้นตอนต่อไปไม่ได้ ! เพื่อน ๆ หลาย ๆ คนยังติดอยู่กระบวนการหาหัวข้อ มันมีรายละเอียดเยอะแยะไปหมดเช่น ต้องห้ามซ้ำ เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เป็นเรื่องที่อยู่ในสภาวการณ์ปัจจุบัน อีกอย่างคือต้องเตรียมข้อมูลให้ครบสำหรับคำถามของ อาจารย์ ทำพาวเวอร์พอยท์ให้ดูดีละเอียด

เมื่อได้มาแล้วซึ่งหัวข้อต่อมาก็ต้องมาหาอาจารย์ที่ปรึกษา ในระหว่างที่เรานำเสนอหัวข้ออยู่ก็จะมีคณาจารย์มาร่วมรับฟังอยู่ถ้าหาก อาจารย์ท่านใดมีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่เรากำลังจะทำอยู่ ท่านก็จะเสนอตัวขึ้นมาช่วยเป็นที่ปรึกษาให้ หรือเราไปหาอาจารย์โดยตรงเพื่อขอให้เป็นที่ปรึกษา

ช่วงการทำวิจัย เป็นช่วงที่ทรมานที่สุดสำหรับผมนะ แน่นอนการเขียนโปรแกรมได้ มันยังไม่พอสำหรับการทำวิจัย คุณจำเป็นต้องเขียน "เล่มวิจัย" ให้ได้ 5 บท และเป็นที่ยอมรับ ไม่เพียงเท่านั้นมันยังมีเงื่อนไขอีกอย่างด้วยว่า งานของคุณต้องเป็นที่ยอมรับในระดับชาติ ด้วยวิธีการคือต้องได้รับการตีพิมพ์ และจำเป็นต้องไปนำเสนองานผ่านเวทีระดับชาติที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งการที่จะไปเวทีประชุมวิชาการได้คุณได้มี ผลงานทางวิชาการในรูปแบบ "บทความ" แน่นอนว่าต้องเขียนมัน ผมจำได้ว่าผมเขียนและแก้ไปไม่รู้กี่รอบจากสิ่งที่เพื่อน "อิ๋ว" ผมตั้งต้นมาให้มันห่างกันไปไกลเชียว

เล่มวิจัยนี่เป็นเรื่องที่สาหัสเลยสำหรับผม เพราะผมแก้จนไม่รู้ว่าแก้ไปกี่ครั้ง คร่าว ๆ ผมคิดว่าน่าจะเกิน 100 รอบ แต่สิ่งที่ผมได้กลับมาคือ วิชาการใช้ Microsoft office การวาด Diagram เทคนิคการสืบค้นข้อมูล หรือการทำงานให้เรียบร้อยมากขึ้น ด้วยความเข้มงวดกวดขันของท่านอาจารย์ที่ปรึกษาของผม พอช่วงที่ผมนำเล่มไปตรวจผ่านสำนักบัณฑิต จึงได้แก้ไขแค่เพียงเล็กน้อยไม่มาก ก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี


สรุปสั้น ๆ คือ ณ ตอนนี้ผมอยู่ในขั้นตอนการตรวจเล่ม เหลือไม่อีกกี่ขั้นตอนก็จะจบแล้ว และอยากจะสื่อสารสำหรับคนที่ต้องการเรียนต่อปริญญาโทว่า คุณต้องมีทั้งความสามารถ เวลา เงิน และที่สำคัญคือ ความพยายามและ "อดทน" เป็นอย่างยิ่ง ไม่ใช่แค่มีเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าคุณมีครบการเรียน ปริญญาไม่ว่าจะเป็น "โท" หรือ "เอก" ผมว่าไม่ยากเกินไป แต่ถ้าใจไม่สู้ อย่าไปคิดแค่ว่าเข้ามาเรียนเล่น ๆ ผมรับรองได้เลยว่าคุณจะเสียทั้งเงิน เวลา หน้าที่การงานของคุณไปฟรี ๆ รวมถึงโอกาสที่คุณจะได้ทำอย่างอื่นอีกมากมายที่คุณจะต้องเสียมันไป


ปล. ในระหว่างทำวิจัยผมได้ลางานไม่เอาเงินเดือนเป็นระยะเวลา 1 เดือน
ปล. ผมไม่ได้ทำงานอื่น ๆ (Freelancer) นอกจากงานวิจัยไป 8 เดือน
ปล.​ ผมคิดจะเลิกเรียนวันละหลาย ๆ รอบ ในช่วงที่ทำวิจัย (เข้าข่ายโรงซึมเศร้า)
ปล. ตอนที่กรรมการสอบบอกให้ผมผ่าน น้ำตาผมซึมเลยทีเดียว 
ปล. การแก้เล่มนั้นเป็นเรื่องที่เป็นปรกติมาก ๆ หรือแม้กระทั่งแก้ใหม่หมดทั้งเล่ม หรือทำแล้วไม่ได้ใช้ย่อมเป็นเรื่องปรกติ
ปล.​ จงทำวิทยานิพนธ์ด้วยตนเองจะดีที่สุด


เดียวผมจะกลับมาเขียนต่อในตอนต่อไปช่วงที่ผมรับปริญญาเสร็จ จะมาเล่าเรื่องการทำเล่มวิทยานิพนธ์  วิธีการปัญหา อุปสรรคต่าง ๆ ที่ผมได้เจอ รวมถึงเทคนิคการจัดเอกสารที่ผมได้ความรู้มา ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้

สุดท้ายจริง ๆ ขอให้กำลังใจเพื่อน ๆ ที่กำลังเรียนอยู่ ขอให้ประสบความสำเร็จโดยเร็ววัน
สมัคร  ชัยสงวน 04/12/2016


















Share on Google Plus

About maxcom

This is a short description in the author block about the author. You edit it by entering text in the "Biographical Info" field in the user admin panel.
    Blogger Comment
    Facebook Comment

2 ความคิดเห็น: